สจล.ผลิตป้ายรถเมล์ไร้ฝุ่น

เพราะป้ายรถเมล์เสี่ยงที่สุดฝุ่นพิษ PM2.5

           รองศาสตราจารย์ ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) กล่าวว่า ระหว่างที่เกิดวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ สำนักวิจัย นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ลงพื้นที่ตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯหลายแห่ง พบว่า ป้ายรถเมล์ที่อยู่ใกล้กับ สถานีรถไฟฟ้าเป็นจุดเกิดฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด

          สาเหตุการเกิดฝุ่น PM 2.5 ต้องแยกเป็นพื้นที่ เช่น ในภาคเหนือ เกิดจากการเผาในที่โล่ง ส่วนในกรุงเทพฯ หลักๆมาจากไอเสียรถยนต์โดยเฉพาะพื้นที่ที่การจราจรติดขัด เป็นพื้นที่ปิด อับ ไม่โล่งแจ้ง การระบาย อากาศไม่ดี จะพบปัญหามากที่สุด โดยเฉพาะสถานที่ที่อยู่ป้ายรถเมล์ จะเกิดฝุ่นมากกว่าจุดอื่น และจากการตรวจวัดพบว่า ขณะรถเมล์ จอดป้าย วัดค่า PM 2.5 ได้ 28 ระหว่างจอดรอรับผู้โดยสารจะปล่อยควันดำออกมา วัดค่า PM 2.5 ได้ 29 และขณะรถเมล์ วิ่งออกจากป้าย ซึ่งจะต้องเร่งเครื่อง วัดค่า PM 2.5 ได้ 60 ทั้งนี้ ป้ายรถเมล์ตั้งอยู่ในพื้นที่อับไม่มีลมช่วยในการระบาย เช่น ใต้สถานี รถไฟฟ้า ปริมาณฝุ่น PM 2.5 จะสะสมมาก หรือมีค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

          สจล.จึงร่วมกับ SCiRA คิดค้นและออกแบบป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นขึ้น โดยติดตั้งระบบตรวจวัดปริมาณฝุ่น พัดลมระบายอากาศ และจอแสดงผลค่าปริมาณฝุ่นแบบเรียลไทม์ หลักการทำงานคือ เมื่อเซ็นเซอร์ตรวจพบค่าฝุ่นเกิน มาตรฐานที่กำหนด จะสั่งการให้พัดลมทำงานทันที เพื่อระบายฝุ่น ให้ลอยตัวขึ้นสู่อากาศชั้นบน ขณะเดียวกัน จะแสดงผลค่าปริมาณฝุ่น ผ่านจอให้ทราบไปพร้อมๆกัน ล่าสุดได้เพิ่มฟังก์ชันตรวจวัดค่าความร้อน ในอากาศ หากอากาศร้อนมากพัดลมก็จะทำงานด้วยเช่นกัน

          งบติดตั้งระบบ ไม่รวมโครงสร้างป้ายรถเมล์ ประมาณ 15,000 บาท/ป้าย เสนอให้ติดตั้งที่ป้ายรถเมล์นำร่อง เน้นในพื้นที่เสี่ยง เช่น ป้ายรถเมล์ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า BTS โดยขณะนี้ SCiRA ได้ติดตั้งป้ายรถเมล์ต้นแบบ ภายใน สจล. เพื่อทดสอบและประเมินผล

 

News from : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

Hit : 6606