สจล. ปั้นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ป้อนอุตสาหกรรมวิศวกรรมการบินและอวกาศร่วมมอบทุนสนับสนุน โครงการค้นพบนักบินอวกาศไทย

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมมือพันธมิตรระดับโลกมอบทุนและโอกาสทางการศึกษาด้านการสำรวจอวกาศ ส่งต่อความเชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ป้อนวงการสำรวจอวกาศ โดยได้ร่วมกันลงนามความร่วมมือ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สจล. ได้ร่วมมือกับศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ (U.S. Space and Rocket Center – USSRC) ร่วมกับ บริษัท Zignature Marketing จำกัด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) Thailand Space and Aeronautics Research (TSR) และ International Youth Astronomy and Space Academy (IYASA) จัดตั้งโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย(Discovery of Thailand’s Astronauts Scholarship Program) ซึ่งเป็นโครงการแข่งขันชิงทุนการศึกษาด้านการสำรวจอวกาศของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “สจล. มีวิสัยทัศน์ที่จะส่งเสริมการศึกษา การพัฒนาและสนับสนุนการวิจัยในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงงานวิจัยเพื่อสร้างทั้งคนที่มีความมุ่งมั่นและพร้อมจะเป็นผู้นำยุคใหม่ที่มีความรู้ความสามารถรอบด้าน และสร้างองค์ความรู้ที่จะนำสังคมและเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำวิสัยทัศน์นี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นในการสร้างนวัตกรรมอื่นๆ ต่อไป” ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว องค์กรพันธมิตรจะให้ทุนแก่นักเรียนไทยอายุระหว่าง 14-19 ปีที่มีศักยภาพและมีความสามารถโดยผ่านการสอบ SCAT (Space Camp Aptitude Test)และได้รับการคัดเลือกจากการแข่งขันรอบสุดท้ายในSTEM Camp ที่ สจล. โดยจะต้องแข่งขันด้านประดิษฐกรรมและนวัตกรรม เพื่อได้ไปศึกษาวิชาการสำรวจอวกาศเบื้องต้นในหลักสูตรเร่งรัดเป็นระยะเวลา 10 วัน ที่ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ที่ฐานทัพ Redstone Arsenal ของกองทัพสหรัฐในเมือง Huntsville มลรัฐ Alabama ตลอดจนได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการอวกาศจากอดีตจนถึงปัจจุบันจากวิศวกรที่องค์การนาซ่า รวมถึงได้ฝึกการเดินในภาวะไร้น้ำหนัก การนำยานสำรวจอวกาศขึ้นและลงจอดที่สถานีอวกาศเคนเนดี้(Kennedy Space Center) การบังคับการยานสำรวจอวกาศส่วนบุคคล หรือ Manned Maneuvering Unit (MMU) วิศวกรรมสถานีอวกาศนานาชาติ และการดำน้ำเพื่อฝึกการทำงานในชุดอวกาศในสภาพไร้น้ำหนัก เป็นต้น ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเสริมว่า ในโครงการนี้ นอกจาก สจล. จะมอบทุนการศึกษาสนับสนุนนักเรียนที่ได้รับทุนแล้ว ยังจะสนับสนุนด้านการสอบทั้งการออกข้อสอบและการตรวจข้อสอบ และหลังจากที่นักเรียนที่ได้รับทุนสิ้นสุดการศึกษาในหลักสูตรเร่งรัดนี้แล้ว สจล. จะให้สิทธิ์ในการศึกษาต่อในสถาบันจนกว่าจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี รวมทั้งช่วยเตรียมตัวเพื่อให้นักเรียนได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบัน MIT ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย “เราเชื่อว่าการพัฒนาคนที่ได้ผล จะต้องมีการพัฒนาและให้โอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในกรณีนี้ เราไม่ได้ให้ทุนเฉพาะเข้าร่วมหลักสูตร 10 วันเท่านั้น แต่ยังให้โอกาสนักเรียนได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และช่วยให้นักเรียนมีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกด้วย การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเช่นนี้จะทำให้เรามีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีศักยภาพและความรู้พร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว 182/ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์

News from : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

Hit : 6986